BLUE GIANT เป่าฝันให้เต็มฟ้า คือภาพยนตร์อนิเมะที่ดัดแปลงมาจากมังงะชื่อเดียวกันซึ่งโด่งดังมากในญี่ปุ่นของ ชินอิจิ อิชิซึกะ ว่าด้วยเรื่องราวของ ได มิยาโมโตะ เด็กนักเรียนมัธยมปลายที่หลงใหลในดนตรีแจ๊สและมักจะฝึกฝนตัวเองด้วยการเป่าแซกโซโฟนเพียงลำพังข้างแม่น้ำฮิโรเสะคาวะ หลังจากที่เรียนจบ ไดที่ตั้งเป้าหมายว่าวันหนึ่งเขาจะเป็นนักดนตรีแจ๊สอันดับหนึ่งของโลกก็ได้ออกเดินทางจากบ้านเกิดเพื่อมาตามหาความฝันของเขาในโตเกียว
ที่นั่นไดได้พบกับ ซาวาเบะ ยูกิโนริ นักเปียโนมากฝีมือที่ใฝ่ฝันว่าจะก้าวขึ้นสู่ระดับที่สูงขึ้น และ ทามาดะ ชุนจิ เพื่อนสมัยมัธยม อดีตนักฟุตบอลที่ผันตัวมาเป็นมือกลองทั้งที่ไม่มีประสบการณ์ ทั้งสามจึงรวมตัวกันฟอร์มวงดนตรีแจ๊สขึ้นมา โดยมีเป้าหมายว่าสักวันมันจะพาพวกเขาไปถึงฝั่งฝันได้ แม้เส้นทางอาชีพนักดนตรีจะไม่ง่ายอย่างที่คิดก็ตาม
ความไม่ง่ายเป็นโจทย์สำคัญสำหรับ BLUE GIANT ด้วยเช่นกัน เพราะการที่มังงะถูกฉาบหน้าด้วยเรื่องของดนตรีเป็นส่วนใหญ่ ปัจจัยแรกที่ยากเย็นแสนเข็ญในการดัดแปลงมันก็คือจะต้องทำอย่างไรให้การแสดงของตัวละครสามารถสื่อสารไปถึงคนดูได้มากกว่าภาพที่อยู่บนหน้ากระดาษ และสองคือด้วยเนื้อหาที่มีจำนวน 10 เล่ม ภาพยนตร์จะต้องแบ่งสันปันส่วนการเล่าเรื่องระหว่างความฝัน ชีวิต และความคลั่งไคล้ของพวกเขาอย่างไรให้อยู่ในจุดที่สมดุลโดยที่ยังคงเสน่ห์ของมังงะเอาไว้ และเข้าถึงคนดูที่อยู่นอกกลุ่มได้ในเวลาเดียวกัน
แต่ดูเหมือนว่าด้วยชื่อชั้นของ ยูซุรุ ทาชิคาวะ (Mob Psycho 100 และ Steins;Gate) ซึ่งเป็นผู้กำกับที่มากไปด้วยประสบการณ์ เขาเข้าใจดีว่าอัตลักษณ์ในงานของตัวเองคืออะไร และนั่นเป็นส่วนสำคัญมากที่ทำให้ BLUE GIANT สามารถร้อยเรียงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันได้อย่างน่าประทับใจ
อย่างไรก็ตาม เวลาที่จำกัดก็เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อการดัดแปลงโดยตรง ซึ่งภาพยนตร์ก็เลือกที่จะตัดทอนความเป็นมาของได (พาร์ตก่อนเข้าโตเกียว) และบทบาทของคนรอบข้างลงเพื่อที่จะสามารถไปโฟกัสกับกลุ่มตัวเอก และสิ่งที่ตัวเองต้องการจะเล่าได้โดยที่ยังคงรักษาแก่นสารสำคัญเอาไว้
ด้วยเหตุนี้รายละเอียดชีวิตของได ซึ่งอยู่ในมังงะช่วงแรกจึงไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาเหมือนกับตัวละครอื่นๆ และไม่มากไม่น้อยมันส่งผลให้ความมีเลือดเนื้อของเขาดูจับต้องได้ยากกว่ายูกิโนริและชุนจิอยู่พอสมควร โดยเฉพาะเวลาที่ทั้งสองจะต้องเผชิญหน้ากับบททดสอบในชีวิต ซึ่งแตกต่างจากไดที่เราแทบไม่ได้เห็นอะไรแบบนั้นเกิดขึ้นกับเขาเลย
โดยปริยายพัฒนาการของตัวละครจึงไปตกอยู่ที่ยูกิโนริกับชุนจิเป็นส่วนใหญ่ และแง่หนึ่งภาพสะท้อนของพวกเขาก็ตรงกับชีวิตของใครหลายคนที่อยู่ก้ำกึ่งหรือมีคำถามว่าแท้จริงแล้ว นอกจากความมุ่งมั่นเพียรพยายาม สิ่งสำคัญที่ทำให้ความฝันของมนุษย์คนหนึ่งเป็นจริงคือพรสวรรค์หรือพรแสวงกันแน่
แต่ทั้งนี้ การว่ายวนอยู่ที่กลุ่มตัวเอกเป็นส่วนใหญ่โดยที่ภาพยนตร์ไม่ได้เผยรายละเอียดของสภาวะแวดล้อมอื่นๆ เลยนอกจากวิถีชีวิตที่ชอบเล่นดนตรี ฝึกซ้อม และโชว์การแสดงบนเวทีต่างๆ ก็อาจจะเป็นการดีสำหรับภาพยนตร์ที่ต้องการมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายเพียงไม่กี่ประเด็น
ซึ่งเมื่อหักลบกลบทุกอย่างสำหรับคนที่ไม่เคยอ่านมังงะมาก่อน เรื่องราวมิตรภาพของพวกเขาก็น่าจะอยู่ในจุดที่กลมกล่อมพอดี ส่วนคนที่เคยอ่านมาก่อนก็น่าจะรู้สึกเสียดายกับเนื้อหาที่ถูกตัดออกไปเหมือนกัน เพราะหลายสิ่งหลายอย่างนั้นสามารถช่วยขยายมิติความสัมพันธ์และความฝันของพวกเขาได้ดีเลยทีเดียว
สิ่งหนึ่งที่อนิเมะได้เปรียบกว่าภาพยนตร์ที่ใช้คนแสดงมาโดยตลอดก็คือขอบเขตจินตนาการ และ BLUE GIANT ก็เอาสิ่งนั้นมาใช้เพื่อส่งเสริมการเล่าเรื่องของตัวเองได้อย่างน่าทึ่ง ด้วยการผสมผสานงานภาพระหว่างสองมิติกับสามมิติเวลาที่ตัวละครเริ่มเล่นดนตรี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ไร้รูปร่างมาโดยตลอด แต่เมื่ออยู่ในภาพยนตร์มันกลับสร้างห้วงเวลาอันน่าจดจำให้แก่คนดูได้อย่างง่ายดายด้วยอภิมหางานวิชวลที่จะพาเราหลุดออกจากกรอบความจริงไปยังที่ที่ไกลแสนไกลเท่าที่ดนตรีแจ๊สจะไปถึง
และนั่นเป็นสิ่งที่เด็ดขาดมาก เพราะถึงแม้โครงเรื่องที่ว่าด้วยการตามหาความฝันจะไม่ใช่สิ่งที่แปลกใหม่ แต่การเคลื่อนไหวของเสียงที่สอดประสานกันอย่างแซกโซโฟน กลอง และเปียโน จนเกิดเป็นการแสดงที่เหมือนกับการเข้าไปนั่งอยู่ในบาร์จริงๆ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรื่องราวของพวกเขาดูมีเสน่ห์อย่างเหลือล้น และมากไปกว่านั้นคือ ทำให้กลุ่มคนดูที่ไม่รู้จักมักคุ้นกับแจ๊สมาก่อนสามารถสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของแนวเพลงที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานนี้ด้วย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากปราศจากฝีมือการประพันธ์ดนตรีของ ฮิโรมิ อุเอฮาระ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคอมโพสเซอร์หลักให้กับภาพยนตร์
ในภาพรวมแม้ BLUE GIANT จะตัดรายละเอียดปลีกย่อยของตัวละครเสริมออกไปจนหมด แต่มันก็ยังคงรักษาใจความสำคัญของตัวเองเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน และหากเปรียบเปรยฉากเล่นดนตรีของพวกเขาที่ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดเป็น Soft Power สิ่งที่ภาพยนตร์ทำได้ก็คือการชุบชีวิตแจ๊สขึ้นมาอีกครั้งอย่างน่าตราตรึงในวันที่แนวเพลงนี้เริ่มเสื่อมความนิยมลงไปตามกาลเวลา และนั่นคงเป็นคำนิยามที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการมีอยู่ของภาพยนตร์เรื่องนี้
BLUE GIANT เข้าฉายในไทยอย่างเป็นทางการ 25 มกราคมนี้ ในโรงภาพยนตร์
รับชมตัวอย่างได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=v0Ttb3XsKH8
ขอบคุณบทความดีๆ จาก The Standard https://thestandard.co/spotlight-blue-giant/