เพลงลูกทุ่ง
หรือที่ในอดีตเรียกว่า “เพลงตลาด” เป็นเพลงที่สะท้อนวิถึชีวิต สภาพสังคมอุดมคติและวัฒนธรรมไทย โดยมีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง และลีลาการร้องการบรรเลงที่เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะซึ่งให้บรรยากาศของความเป็นลูกทุ่ง (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 2532:11)
เพลงตลาด หรือเพลงลูกทุ่งเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2480 เหตุที่เพลงตลาด หรือเพลงลูกทุ่ง ได้รับความนิยมน่าจะเป็นเพราะว่าเป็นเพลงที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่ลำบากทุกข์ยากของประชาชนระดับล่างในช่วงเวลานั้นที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามและปัญหาเศรษฐกิจ เพลงลูกทุ่งได้มีการผสมผสานอย่างเหมาะสมระหว่างคุณลักษณะเพลงไทยเดิมและเพลงไทยสากล มีลีลาเพลงที่ดัดแปลงมาจากเพลงพื้นบ้าน ใช้จังหวะพื้นบ้านซึ่งนิยมอยู่แล้วในเพลงพื้นบ้านทั่วเมืองไทยแต่อาจจะต่างรูปแบบกัน เช่น จังหวะเพลงของหมอลำ เพลงบอก มโนราห์หนังตะลุง เมื่อจังหวะเหล่า นั้นถูกดัดแปลงเป็นจังหวะลูกทุ่ง เน้นความสนุกสนานครึกครื้นเป็นหลัก ส่วนเนื้อร้องเป็นเรื่องของชาวบ้าน พูดตรงไปตรงมาไม่มีสำนวนที่วิจิตรพิสดาร มีการผูกประโยคง่าย ๆ ชมธรรมชาติและท้องทุ่ง ท้องนา บรรยายชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชนบท รำพันถึงความรักการประกอบอาชีพ ความตลกขบขัน เสียดสีสังคม ฯลฯ ในภาคเหนือเริ่มปรากฏเพลงในลักษณะ “เพลงลูกทุ่งคำเมือง”
เมื่อประมาณ พ.ศ.2497-2498โดยมีการเริ่มก่อตั้งวงดนตรีไทยสากลขึ้นในเชียงใหม่ ได้แก่ วงลูกระมิงค์ วงดาวเหนือ วงดุริยะเวียง พิงค์ ซึ่งในภายหลังเรียกขานกันว่าเป็นแบบ “วงดนตรีลูกทุ่ง” ซึ่งต่อมาก็ได้มีการพัฒนารูปแบบกันไป จนเมื่อปี 2520 ความนิยมในวงดนตรีลูกทุ่งคำเมืองเริ่มลดลง ใน ขณะเดียวกันหนุ่มสาววัยรุ่นซึ่งมีชีวิตอยู่ในเมืองและได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมจากตะวัน ตกเริ่มนิยมดนตรีแบบโฟล์คซองมากขึ้น โดยความหมายแล้วคำว่า “โฟล์คซอง” (folk song) นั้นหมายถึง “เพลงพื้นบ้าน” แต่ความหมายที่วัยรุ่นหนุ่มสาวไทยรู้จักและนิยมกันนั้น มิได้หมาย ถึงเพลงพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยแต่หมายถึงลักษณะของเพลงตะวันตกที่มีลีลาการ้องและการเล่นดนตรีเรียบง่ายไม่ซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลงโฟล์คซองอเมริกันมีอิทธิพลต่อวัยรุ่นไทยมาก เครื่องดนตรีที่ใช้เล่นประกอบด้วยกีตาร์โปร่ง (Folk Guitar) เม้าท์ออแกน (mouth organ)และแบนโจ (Banjo)
ผู้เล่นเพลง โฟล์คซองอาจจะเล่น ดนตรีและร้องเดี่ยวๆ หรืออาจจะตั้งเป็นวง 2-3 คนก็ได้ จุดเริ่มต้นของ “โฟล์คซองคำเมือง” นั้นก็คือการที่มีผู้นำเอาเพลง “ลูกทุ่งคำเมือง” มาเล่นและร้องในสไตล์ของโฟล์คซอง มีการแต่งเพลงขึ้นใหม่โดยใช้ภาษาคำเมือง ตลอดจนนำเอาเพลงซอ มาขับร้องใหม่ โดยใช้กีตาร์เป็นเครื่องดนตรีประกอบ นั่นคือกำเนิดของเพลงแบบผสมครึ่งท้องถิ่นครึ่งตะวันตก ที่เรียกว่า “โฟล์คซองคำเมือง”ซึ่งได้รับความนิยมแพร่หลายต่อมา
เมื่อโฟล์คซองคำเมือง เริ่มเป็นที่นิยมแล้ว ก็ได้มีผู้บุกเบิกการบันทึกเสียงเพลงโฟล์คซองคำเมืองลงเทปตลับ ออกจำหน่ายคือ มานิต อัชวงศ์ เจ้าของร้านท่าแพบรรณาคาร โฟล์คซองคำเมืองชุดแรกที่ได้รับการบันทึกเสียงคือชุดของ “คณะต่องและเพื่อน” เทปชุดแรกดูเหมือนจะเป็นการทดลองในแง่ของการตลาด เพลงคำเมืองจึงมีเพียงด้านเดียว ส่วนอีกด้านหนึ่งของเทปเป็นเพลงตะวันตก เทปชุดที่สองต่อมา คือชุดของจรัล มโนเพ็ชร ซึ่งนับว่าเป็นชุดที่ได้รับความสำเร็จไม่น้อย การโฆษณาทางสื่อมวลชนต่างๆ เป็นแรงหนุนส่วนหนึ่งที่ทำให้เพลงโฟล์คซองคำเมืองได้รับความนิยมไม่เฉพาะแต่ในภาคเหนือเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายไปทั่วประเทศโดยลำดับ ชื่อของจรัล มโนเพ็ชร เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการเพลงอย่างกว้างขวาง มีนักร้องร่วมในเทปชุดต่อๆ มาอีกคือ เกษม มโนเพ็ชร และสุนทรี เวชานนท์ (สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ,จรัญ มโนเพ็ชร ศิลปินโฟล์คซองคำเมือง2542:4757-4766)
พัฒนาการของเพลงไทยสากล และเพลงไทยลูกทุ่งจนไปถึงเพลง โฟล์คซองคำเมืองเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมทางด้านดนตรี เปลี่ยนผ่านการเวลาจนสะสมและทับถมกันจนแยกไม่ออกว่าวัฒนธรรมใดเป็นของใคร หรือแม้แต่การนำบทเพลงไทยเดิม เพลงพื้นบ้าน หรือเพลงพื้นเมืองมาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ในรูปแบบดนตรีสากล มีการปรับรูปแบบการนำเสนอ โดยประยุกต์และนำเอาเครื่องดนตรีไทย เครื่องดนตรีพื้นบ้าน มาประสมเพื่อสร้างความหลากหลายและความสวยงามให้กับโสตศิลป์ (Auditory Art) เพื่อสร้างคำว่า “ร่วมสมัย” (Contemporary) มากกว่าคำว่า “รากเหง้า” (Progenitor) ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลใด หลักการใดก็ตาม สิ่งเหล่านี้ต้องถูกตั้งคำถามย้อนกลับ และคิดถึงผลทั้งในเชิงบวก และเชิงลบ เพราะทุกสิ่งสามารถมองได้มากกว่าหนึ่งด้านแล้วแต่จะมองด้านใด ดนตรีเป็นศิลปะเป็นเรื่องของสุนทรียศาสตร์ที่ว่าด้วยความสวยงาม และความไพเราะของเสียง มีลักษณะมุมมองเฉพาะหากได้ทำการส่งเสริมอย่างถูกที่และถูกมุมแล้ว ก็จะส่งผลให้ก่อเกิดประโยชน์อย่างเอนกประการ แต่อย่าลืมว่าศิลปวัฒธรรมนั้นมิได้มีความแข็งแกร่งดังเหล็กกล้า แต่อ่อนนิ่ม และแข็งได้ เปรียบดังกระแสน้ำ บางครั้งวัฒนธรรมของชาติตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาอาจจะท่วมท้นกลบของเก่าดั้งเดิมจนมืดมิด จนไม่อาจจะหาดนตรีดั้งเดิมฟังได้ คงเหลือไว้แค่เพียงแค่กลิ่นไอของดนตรี.อ้างอิงจาก www.artsedcenter.com